วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

          ก่อนอื่น ขอกล่าวคร่าวๆ ถึงขอบเขตของ  blog นี้ก่อนนะคะว่าเราจะพูดถึงประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วเราพูดถึงเฉพาะนวัตกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษดังนี้ค่ะ
           "แนวคิด หลักการประเมินและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ พื้นฐานหลักการสร้างแบบทดสอบ หลักการสร้างเครื่องมือประเมินผลนวัตกรรมในการประเมินผลแบบต่างๆ"

           Concept, principles of developing and evaluating the innovation for English-teaching; basic criteria construction, testing, and tool for evaluating the innovation for English-teaching.
           ซึ่งจากคำอธิบายขอบข่ายการเรียนรู้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า นอกจากที่เราจะต้องประเมินและพัฒนาหรือที่เรียกง่ายๆ ว่าสร้างขึ้นมานั้น เรายังจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแบบทดสอบและการประเมินผลต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า แบบทดสอบก็คือส่วนหนึ่งของนวัตกรรมค่ะ
           เพื่อให้เข้าใจกันยิ่งขึ้นนะคะ ขอเริ่มที่ความหมายของนวัตกรรม ซึ่งอาจารย์ได้นำมาจาก http://www.l3nr.org/posts/235365 ของ อาจารย์ นรเดช มานะมุติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ค่ะ

นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation)

     ในที่นี้คำว่า “ นวัตกรรมการศึกษา ” จะประกอบด้วย 2 คำคือ คำว่า “ นวัตกรรม ” และคำว่า “ การศึกษา ” คำว่า นวัตกรรม ตามความหมายที่สรุปไว้แล้วนั้น หมายถึง การนำแนวคิดใหม่ วิธีการใหม่ หรือสิ่งใหม่มาใช้ทั้งหมดหรือการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม แนวคิดเดิม วิธีการเดิม หรือสิ่งเดิมเพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดียิ่งขึ้นส่วนคำว่า การศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมายความว่ากระบวนการการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตสรุปความแล้ว นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง การนำแนวคิดใหม่ วิธีการใหม่ หรือสิ่งใหม่มาใช้ หรือการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม แนวคิดเดิม วิธีการเดิมหรือสิ่งเดิมที่ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคล และสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
     
             หลักเกณฑ์ในการพิจารณานวัตกรรม
     นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่หรือพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มเติมจากสิ่งเดิมแล้วนำมาทดลองจนมีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือ และนำไปใช้ในสภาพงานที่จริงในที่สุด แต่เมื่อใช้นวัตกรรมจนเป็นที่แพร่หลายและยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของงานแล้วก็จะ ถือได้ว่านวัตกรรมนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีความไม่แน่ใจอยู่อีกว่า ถ้าเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นที่แพร่หลายแล้ว แต่ในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่งยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่เพราะยังไม่เคยนำไปปฏิบัติจะถือว่าเป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดังนั้นจึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณานวัตกรรมพอสรุปได้ดังนี้
         1. เป็นแนวคิดใหม่ วิธีการใหม่ หรือสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
         2. เป็นแนวคิดเดิม วิธีการเดิม หรือสิ่งเดิม จากที่อื่น แล้วนำมาใช่กับสภาพการณ์ใหม่
         3. เป็นแนวคิดเดิม วิธีเดิม หรือสิ่งเดิม ที่ถูกพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วใช้ในสภาพการณ์เดิม หรือนำไปใช้สภาพการณ์ใหม่
         4. เป็นแนวคิด วิธีการ หรือสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน ถ้าใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบันจะไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรม แต่เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยี
         5. เป็นแนวคิด วิธีการ หรือสิ่งที่อยู่ในระหว่างการวิจัย หรือพิสูจน์ด้วยการวิจัยแล้วว่าช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึงแม้ว่านวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ และใช้เป็นที่แพร่หลายในสภาพแวดล้อม และสังคมหนึ่งแล้วนั้น มิได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมและสังคมอื่นเสมอไป เนื่องจากในแต่ละสภาพแวดล้อม และสังคมจะมีความแตกต่างกัน เช่น วัฒนธรรม บุคลากร สถานที่ บรรยากาศ เป็นต้น ดังนั้นในการนำนวัตกรรมจากสภาพแวดล้อม และสิ่งอื่นมาใช่ก็ควรที่จะต้องทดลองใช้กับสภาพแวดล้อและสังคมใหม่เพื่อรับประกันว่าในสภาพแวดล้อม และสังคมใหม่นี้นวัตกรรมที่นำมาใช้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงกว่าจริง หรือมีการวิจัยที่ยืนยันว่านวัตกรรมที่นำมาใช้นี้สามารถนำไปใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมและสังคมที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกันนี้
ลักษณะของนวัตกรรม
    1. นำเอาวิธีเก่าจากที่อื่นมาทดลองใช้
    2. ดัดแปลง ปรับปรุงของเก่าให้เหมาะกับสถานการณ์
    3. ฟื้นฟูสิ่งที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อน
    4. การคิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

            ความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมกับเทคโนโลยี
         นวัตกรรมกับเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าคำสองคำนี้มักจะเขียนควบคู่กันในภาษาอังกฤษบางครั้งจะใช้คำย่อว่า INNOTECH ซึ่งย่อมาจาก Innovation and Technology เนื่องจากนวัตกรรมเมื่อนำมาใช้งานและยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงาน หรืออยู่ในช่วงการทดลอง พัฒนา ปรับปรุง จะยังเป็นนวัตกรรม แต่เมื่อไหร่ก็ตามได้นำไปใช้จนเป็นส่วนหนึ่งของระบบงาน นวัตกรรมก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีหรืออีกนัยหนึ่งถ้ามองทางด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะเป็นการมุ่งเอาสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ก็น่าจะเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งในทางกลับกันเมื่อเทคโนโลยีได้มีการใช้ไปนาน ๆ ก็จะเป็นแนวคิดเดิม วิธีเดิม หรือ สิ่งเดิม หรือนำไปใช้ในสภาพการณ์ใหม่ จำเป็นต้องพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แล้วนำไปใช้ เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นนวัตกรรม และเมื่อนวัตกรรม ถูกใช้เป็นส่วน หนึ่งของระบบงานและเป็นที่แพร่หลายก็กลายเป็นเทคโนโลยีหมุนเวียนสลับกันไปเช่นนี้

         นวัตกรรมการศึกษาในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมนั้นจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการพิจารณาซึ่งนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมหนึ่ง อาจจะเป็นเทคโนโลยีในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่งไปแล้ว อย่างเช่น การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ในประเทศไทยอาจจะเป็นนวัตกรรมอยู่ แต่ถ้ามองให้แคบลงในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจจะถือว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นเทคโนโลยีไปแล้ว ดังนั้นการที่จะกล่าวลงไปว่าอะไรเป็นนวัตกรรมอะไรเป็นเทคโนโลยีก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเอากรอบอะไรมาเป็นตัวจับ กรอบนั้นมีขอบเขตกว้างหรือแคบแค่ไหน ในที่นี้จะขอใช้กรอบในประเทศไทย โดยรวมเป็นหลักไม่เฉพาะเจาะจงไปในมหาวิทยาลัยใด หรือกระทรวง กรม กอง สถาบันการศึกษาเป็นหลัก โดยจะแบ่งนวัตกรรมการศึกษาในประเทศไทยออกเป็นหมวดหมู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ นวัตกรรมวิธีการหรือกระบวนการ (Technique of Process) นวัตกรรมที่ประสมวิธีการหรือกระบวนการและการผลผลิต (Process and Product) และคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในการศึกษา (Computer-Based Education) ซึ่งแยกออกมาจากนวัตกรรมที่ประสมวิธีการหรือกระบวนการ และ ผลผลิต เนื่องจากเห็นว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทมากในปัจจุบันและแนวโน้มคอมพิวเตอร์ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน ส่วนนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตอย่างเดียวได้นำไปกล่าวไว้ในเทคโนโลยีประเภทอุปกรณ์แล้ว

คำถามประจำบท

1. นวัตกรรมทางการศึกษาคืออะไร ? ยกตัวอย่างประกอบ

2.
อธิบายขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา